วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

การวัดผลของสื่อและวิธีการ

... ในปัจจุบันสื่อการเรียนการสอนเข้ามามีบทบาทในกระบวนการเรียนการสอนเป็นอย่างมากซึ่งสื่อการเรียนการสอนที่ใช้กันในปัจจุบันเป็นสื่อที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีที่พัฒนามาจนเจริญก้าวหน้าตั่งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันนี้ ในการใช้สื่อการเรียนการสอนนั้นต้องมีการเลือกใช้สื่อที่เหมาะสมรวมทั้งการพิจารณาถึงคุณค่าหรือประสิทธิภาพในด้านต่างๆด้วยและจะต้องมีการประเมินสื่อที่ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อจะได้นำไปแก้ไขปรับปรุงสื่อต่างๆให้ได้ผลตามจุดมุ่งหมายก่อนที่จะนำสื่อนั้นไปใช้ในระบบการเรียนการสอนต่อไป
...การประเมินสื่อการเรียนการสอนนับว่าเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากอีกขั้นตอนหนึ่งของกระบวนการเรียนการสอนการประเมินสื่อการเรียนการสอนมักจะควบคู่ไปกับวิธีการประเมินไปด้วย การประเมินสื่อเป็นการพิจารณาประสิทธิภาพและคุณภาพของสื่อการเรียนการสอนซึ่งถ้าจะให้ได้ผลดีนั้นควรจะมีการประเมินสื่อนั้นเมื่อมีการใช้สื่อเป็นครั้งแรกเพื่อการปรับปรุงการใช้สื่อในครั้งต่อไป การประเมินสื่ออาจทำได้โดย
1. การประเมินโดยผู้สอน ผู้สอนควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ในการสอน เคยได้รับการฝึกอบรมจนมีความรู้ความชำนาญเกี่ยวกับการผลิตและการใช้สื่อและมีประสบการณ์ในการใช้สื่อการเรียนการสอนมาเป็นอย่างดี
2. การประเมินโดยผู้ชำนาญ ซึ่ง ผู้ชำนาญในที่นี้ หมายถึง ผู้ชำนาญด้านสื่อการเรียนการสอนและจะต้องมีประสบการณ์ด้านการประเมินด้วย ดังนั้น ผู้ชำนาญอาจเป็นผู้สอน เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยที่สอนในสาขาวิชาสื่อและเทคโนโลยีการศึกษา รวมทั้งอาจารย์ด้านการวัดผลและการประเมินผลที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น
3. การประเมินโดยคณะกรรมการเฉพาะกิจ คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อประเมินสื่อการสอนเป็นกลุ่มบุคคลที่หน่วยงานแต่งตั้งขึ้นมาประเมินสื่อ ซึ่งลักษณะของกรรมการชุดนี้จะประเมินคุณลักษณะ ประสิทธิภาพการใช้และคุณลักษณะด้านอื่นๆของสื่อการเรียนการสอนด้วย
4. การประเมินโดยผู้เรียนซึ่งผู้เรียนจะเป็นผู้รับรู้และเรียนรู้จากสื่อได้ตรงที่สุด ดังนั้น การให้ผู้เรียนได้มีโอกาสประเมินสื่อจึงช่วยให้ได้ข้อคิดในการปรับปรุงสื่อให้เหมาะสมกับผู้เรียนซึ่งการประเมินโดยผู้เรียนควรจัดทำขึ้นทันทีเมื่อใช้สื่อแล้วและให้ประเมินเฉพาะตัวสื่อโดยไม่ให้นำวิธีสอนของผู้สอนเข้ามาประเมินด้วย อย่างไรก็ตาม การประเมินสื่อโดยผู้เรียนอาจมีปัญหาอยู่บ้างเพราะผู้เรียนอาจยังมีประสบการณ์ไม่เพียงพอ ผู้สอนควรชี้แจงเกณฑ์หรือหัวข้อการประเมินให้ผู้เรียนเข้าใจอย่างชัดเจนก่อนที่จะให้ประเมิน
5. การประเมินประสิทธิภาพของสื่อที่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่อาจทำได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งการประเมินประสิทธิภาพของสื่อนั้นสื่อที่จะต้องได้รับการประเมินประสิทธิภาพส่วนใหญ่จะเป็นสื่อที่ผลิตขึ้นตามหลักการของการสอนแบบโปรแกรม เช่น บทเรียนโปรแกรมชุดการสอนโมดุลและโสตทัศนนูปกรณ์โปรแกรม เป็นต้น การประเมินสื่อโดยวิธีนี้จะคำนึงถึงจุดมุ่งหมายของสื่อการเรียนการสอนและการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนภายหลังจากที่เรียนจากสื่อนั้นแล้ว
นอกจากนี้อาจทำได้ด้วยการสังเกตพฤติกรรมการเรียน การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน การอภิปรายระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนเกี่ยวกับสื่อการเรียนการสอน เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประเมินจะต้องมีแบบประเมินเพื่อช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลและนำมาวิเคราะห์ผลการประเมินต่อไป ซึ่งวิธีต่างๆเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นแนวทางในการประเมินสื่อทั้งสิ้น

...เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าการประเมินสื่อสามารถทำได้หลายวิธีและมีจุดมุ่งหมายที่ต่างๆกัน ดังนั้น เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อการประเมินสื่อจึงทำได้หลายลักษณะ คือ
1. แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจะเป็นเครื่องมือวัดความรู้ของผู้เรียนภายหลังการเรียนจากสื่อแล้ว

2. แบบทดสอบความถนัดเพื่อวัดสมรรถนะของผู้เรียนภายหลังที่เรียนจากสื่อ

3. แบบสอบถาม เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการสำรวจซึ่งเครื่องมือนี้จะประกอบด้วยข้อความหรือคำถามต่างๆเกี่ยวกับสื่อหรืออาจจะมีช่องว่างให้เติมข้อความด้วยก็ได้ เครื่องมือลักษณะนี้ใช้ประเมินได้กับทุกกลุ่มเรียน

4. แบบมาตราส่วนประมาณค่า สามารถใช้ประกอบในแบบสอบถามได้ซึ่งการใช้เครื่องมือ แบบมาตราส่วนประมาณค่านี้สามารถนำไปใช้ในการรวบรวมข้อมูลเพื่อประเมินด้านเหตุการณ์ ความคิดเห็นและเจตคติของผู้เรียนได้ ซึ่งผู้ออกแบบแบบประเมินลักษณะนี้ต้องให้นิยามของศัพท์เฉพาะหรือข้อความด้านเทคนิคที่ใช้ในการประเมินให้ชัดเจน ไม่เช่นนั้นข้อมูลที่ได้อาจผิดพลาดหรือคลาดเคลื่อนได้

5.แบบจัดอันดับเป็นการพิจารณาคุณค่าของสิ่งในการสอนจุดมุ่งหมายหนึ่งว่า สื่อใดจะเหมาะสมที่สุดแล้วเรียงอันดับความสำคัญของสื่อ

6. การบันทึกแบบไดอารี่เป็นเทคนิคอย่างหนึ่งในการประเมินอาจจะบันทึกเกี่ยวกับการใช้สื่อนั้นๆ ทุกครั้งที่มีการใช้ เพื่อทราบผลการใช้สื่อในการเรียนการสอน

7. การสังเกตเป็นการเฝ้าดูผลที่เกิดขึ้นจากการใช้สื่อการสอนตั้งแต่เริ่มต้นจนจบกระบวนการใช้

8. การสัมภาษณ์เป็นการซักถามและพูดคุยกับทั้งผู้ผลิต ผู้ใช้และผู้เรียนเกี่ยวกับสื่อนั้น เพื่อนำข้อมูลมาประกอบพิจารณาในการประเมินสื่อ ลักษณะของเครื่องมือการประเมินสื่อการเรียนการสอน นอกจากที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ยังมีเครื่องมืออีกหลายลักษณะที่สามารถนำมาประยุกต์ในการออกแบบเครื่องมือการประเมินสื่อได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายและวิธีการประเมิน



อย่างไรก็ตามเนื่องจากการประเมินมีหลายวิธี นอกจากนั้นการประเมินยังมีความมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงให้ดีขึ้น ไม่ใช่เป็นการตรวจสอบเท่านั้น ดังนั้นเครื่องมือและเทคนิคการรวบรวมข้อมูลจึงมักใช้หลาย ๆ รูปแบบและจัดให้มีการประเมินอย่างต่อเนื่อง


การประเมินสื่อการเรียนการสอนเป็นการพิจารณาประสิทธิภาพและคุณภาพของสื่อ เช่น การเรียนการสอนที่ใช้มีประสิทธิผลเพียงใด สื่อจะสามารถปรับปรุงการสอนได้ดีแค่ไหน คุ้มค่าในแง่ผลการเรียนรู้หรือไม่ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีการใช้สื่อนั้นเป็นครั้งแรกซึ่งควรจะมีการประเมินสื่อเพื่อปรับปรุงการใช้ในครั้งต่อไป การประเมินอาจทำโดยใช้การประเมินแบบวิธีง่ายๆไปจนถึงแบบวิธีที่ซับซ้อนทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการประเมินด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: